คำนวณ ROE วัดความสามารถในการทำกำไรจากการก่อหนี้ดอกเบี้ยขาลง
เมื่อ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลง และธนาคารพาณิชย์ก็จะเริ่มจัดขบวนพาเหรดจัดเคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมา ติดอยู่ก็เพียงแต่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแม้จะมีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดนี้ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูงจากการก่อหนี้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก หรือภาวะที่ค่าครองชีพถีบตัวสูง จึงอาจจะทำให้สถาบันการเงินค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงเป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสนใจเกี่ยวกับ ROE ที่โดยส่วนมากมักจะมองเพียงสูงหรือต่ำ หรือเปรียบเทียบกับ ROA หรือ ROI ทั้งที่จริงการเปรียบเทียบในลักษณะเพียงแค่สูงหรือต่ำก่อนจะวัดจาก ROI ROA ROE ทุกตัวต้องวัดกับ..ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ก่อนเป็นอันดับแรก
25 มีนาคม 2558
วันนรัตน์
ROE (Return on Equity) เป็นอัตราส่วนทางการเงินอีกชนิดที่ใช้ในการการวัดความสามารถในการทำกำไร ผลลัพธ์จากการคำนวณจะออกมาในรูปของเปอร์เซ็นต์เพื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ซึ่งมีความคล้ายกับการคำนวณ ROA หรือ ROI แตกต่างกันในส่วนของทุน โดย ROA หรือ ROI จะพิจารณาจากสินทรัพย์รวม แต่สำหรับ ROE จะพิจารณาในส่วนของแหล่งที่มาของทุนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะหาทุนมาจากการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การออกหุ้นกู้ ออกหุ้นเพิ่มทุน ภายหลังจากการดำเนินงานจะประเมินผลภายหลังที่หักภาษีและดอกเบี้ยแล้วเป็นกำไรสุทธิ จะทำให้ทราบว่ามีการบริหารจัดการทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าของ ROA หรือ ROI กับ ROE แล้วจะเห็นความแตกต่างและความสัมพันธ์ที่จะบ่งชี้ให้ทราบว่ามีการใช้ทุนจาก การกู้ยืมมากน้อยเพียงใด และสามารถนำทุนดังกล่าวสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
กรณีที่ไม่มีการกู้ยืม ROI หรือ ROA จะมีค่าเท่ากับ ROE ต่อเมื่อมีการกู้ยืม ทุนบางส่วนมาจากการกู้ยิม การคำนวณ ROE จึงต้องนำ ROA หรือ ROI มาคูณด้วยอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อส่วนของเจ้าของ (equity multipier) โดยจะนำสินทรัพย์ทั้งหมดมาหารด้วยส่วนของเจ้าของ ROE = ROA × equity multipier ซึ่งอาจจะคำนวณโดยตรงจาก ดังนี้
[CP_CALCULATED_FIELDS id=”9″]ได้ ROE แล้วลองคำนวณ ROI เพื่อเปรียบเทียบ
[CP_CALCULATED_FIELDS id=”6″]
ปัญหาเกี่ยวกับ ROE
ต่อคำถามที่ว่า ถ้าบริษัทมี ROE สูงขึ้นแล้วจะทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่จำเป็น (แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ROE กับความมั่งคั่งจะมีความสัมพันธ์กันและถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง) ถ้าใช้ ROE เพียงอย่างเดียวเพื่อวัดผลการดำเนินงานแล้วอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ROE ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยง ขณะที่ผู้ถือหุ้นต้องการผลตอบแทนแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงด้วย
2. ROE นั้นไม่ได้พิจารณาจำนวนเงิน แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นอาจจะลองมองที่ 90% ของ จำวนเงิน 100 บาท เปอร์เซ็นต์สูงแต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 90 บาท แต่ 20% ของเงินจำนวน 1,000 บาท ให้เปอร์เซ็นต์ต่ำแต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 200 บาท
3. การมองเฉพาะ ROE ที่มีค่าสูง อาจทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนโครงการที่ดี เพราะกลัวการลงทุนโครงการใหม่ที่มี ROE ต่ำจะกดให้ ROE รวมของตัวเองต่ำลง
เหตุผลจากการที่ ROA จะสูงหรือต่ำขึ้นกับ Profit Margin กับ Assets Turnover ดังนั้น ในกรณีที่ ROA มีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ROE ก็จะยิ่งสูงกว่า ROA ชี้ให้เห็นว่ากำไรที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดจากการใช้ข้อได้เปรียบจากการก่อหนี้ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีการพิจารณาเรื่องทุนในส่วนของกู้ยืม จึงต้องพิจารณาในส่วนของความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นอัตราส่วนทางการเงินอีกชนิดที่ใช้ในการวัดสภาพคล่อง รวมทั้งการวัดความสามารถในการการบริหารหนี้สิน และการประเมินเรื่องความเสี่ยงและขนาดของโครงการควบคู่ไปด้วย
อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ใช้วิเคราะห์งบการเงินเพื่อคาดการณ์ผลจากการลงทุนในอนาคต และประเมินผลโครงการที่ลงทุนเพื่อปรับปรุงและแก้ไข หากไม่เบื่อกันไปเสียก่อนและคิดว่ามีประโยนชน์จะทะยอยนำเสนออัตราส่วนทางการเงินชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมในภายหลัง พร้อมโปรแกรมคำนวณ เพื่อเชื่อมโยงอัตราส่วนทางการเงินทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นแผนภูมิ และสมการ Du Pont ที่จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอัตราส่วนชนิดต่างๆ ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน นอกจากจะช่วยพิจารณาเลือกลงทุนแล้วยังสามารถค้นหาจุดบกพร่องเพื่อปรับปรุงและแก้ไขให้ตรงประเด็นได้อีกด้วย